ในประเทศไทยได้เริ่มมีแนวคิดจัดตั้งโครงการจัดหาผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต หรือสเต็มเซลล์จากประชาชนทั่วไป ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาสเต็มเซลล์จากผู้บริจาคทั่วไปที่ไม่ใช่ญาติให้กับผู้ป่วย ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์แต่ไม่มีญาติพี่น้องที่มี HLA ตรงกัน โดยการบริจาคนี้จะเป็นการบริจาคด้วยความสมัครใจ และไม่มีการซื้อขาย
ในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2545 แพทยสภาจึงได้ประกาศเป็นข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม เกี่ยวกับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ในราชกิจจา-
นุเบกษา และกำหนดให้ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการจัดหาผู้บริจาคสเต็มเซลล์ที่ไม่ใช่ญาติให้กับผู้ป่วยโดยจัดตั้ง Thai National Stem Cell Donor Registry (TSCDR) ขึ้นเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์มากขึ้น
บทบาทและหน้าที่
1. ตรวจหาชนิดของเนื้อเยื่อเม็ดโลหิตขาว (HLA typing) ในอาสาสมัครบริจาคสเต็มเซลล์
2. บันทึกข้อมูลผู้บริจาค และผลการตรวจ HLA typing ในโปรแกรมฐานข้อมูล สำหรับ คัดเลือกผู้บริจาคที่มี HLA typing ตรงกันกับผู้ป่วย
3. ประสานงานการตรวจ HLA typing เพิ่มเติมและการบริจาคสเต็มเซลล์ ระหว่างผู้บริจาค โรงพยาบาลเจาะเก็บสเต็มเซลล์ และโรงพยาบาลปลูกถ่ายสเต็มเซลล์
4. ประสานงานกับศูนย์รับบริจาคสเต็มเซลล์ และธนาคารเลือดจากรกในต่างประเทศ