![](https://stemcellthai.redcross.or.th/wp-content/uploads/2021/03/20.1_1.jpg)
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ร่วมกับสมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย จัดเสวนาเรื่อง “มะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคร้ายที่รักษาหายขาดได้ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ตลอดจนรณรงค์หาอาสาสมัครบริจาคสเต็มเซลล์ ช่วยเพิ่มโอกาสการรักษาให้แก่ผู้ป่วยหายขาดจากโรคได้ โดย รศ.นพ.วิชัย ประยูรวิวัฒน์ เลขาธิการสมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิดการเสวนา ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 10 อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๖ รอบพระชนมพรรษา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2554 โดยมีประชาชนให้ความสนใจร่วมฟังการเสวนาจำนวน 356 คน ได้รับเกียรติจากวิทยากรซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ จากสมาคมโลหิตวิทยาฯ อาทิ พ.อ.รศ.นพ.ไตรโรจน์ ครุธเวโช ประธานฝ่ายเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน พญ.สร้อยสอางค์ พิกุลสด ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ รศ.นพ. สุรเดช หงส์อิง โรงพยาบาลรามาธิบดี ผศ.นพ.นพ.อุดมศักดิ์ บุญวรเศรษฐ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พ.อ.รศ.นพ. รัชฏะ ลำกูล โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และ ผศ.นพ.สนั่น วิสุทธิศักดิ์ชัย โรงพยาบาลศิริราช
จากสถานการณ์การเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในประเทศไทย นั้น ผศ.นพ.นพ.อุดมศักดิ์ บุญวรเศรษฐ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดเผยว่า โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเป็นโรคที่สามารถพบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งมีสาเหตุที่แตกต่างกันทั้งจากพันธุกรรม โรคเลือด และการได้รับรังสีหรือเคมีบางชนิดในอุตสาหกรรม ซึ่งผู้ป่วยบางรายไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ปัจจุบันคาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 6,000-10,000 คน เป็นเด็กประมาณร้อยละ 10 ในการตรวจหามะเร็งเม็ดเลือดขาวในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นการตรวจนับเซลล์เม็ดเลือด เพราะผู้ป่วยจำนวนหนึ่งเข้ามารับการรักษาโดยไม่มีอาการ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่พบมี 2 ชนิด คือ มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันรุนแรง และมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเรื้อรัง การรักษาส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องการให้เคมีบำบัดในบางราย และการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ แต่ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่มีโอกาสรักษาหายขาด จะเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน
แพทย์หญิงสร้อยสอางค์ พิกุลสด ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เป็นศูนย์กลางรับลงทะเบียนอาสาสมัครบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต หรือ สเต็มเซลล์ จากผู้บริจาคโลหิต รวมทั้งดำเนินการตรวจหาชนิดของเนื้อเยื่อ (HLA typing) ของผู้บริจาคและผู้ป่วยด้วยโรคทางโลหิต โดยมีการติดต่อประสานงานกับศูนย์รับบริจาคสเต็มเซลล์ และธนาคารเลือดจากรก กับโรงพยาบาลที่ทำการรักษาผู้ป่วยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปัจจุบัน มีผู้ลงทะเบียนสมัครใจบริจาคสเต็มเซลล์ มากกว่า 1 แสน แต่โอกาสที่เนื้อเยื่อ ของผู้บริจาคและผู้ป่วย จะตรงกันมีเพียงเพียง 1 ต่อหมื่นคน เท่านั้น ซึ่งขณะนี้มีเพียง 80 คน ที่มีเนื้อเยื่อตรงกับผู้ป่วย และสามารถบริจาคสเต็มเซลล์ให้แก่ผู้ป่วยได้ ทั้งนี้ ผู้ที่บริจาคสเต็มเซลล์ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้ที่บริจาคโลหิต และเป็นผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง โดยศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย 3,000 บาท ในการตรวจวิเคราะห์หาเนื้อเยื่อ HLA ให้กับผู้ป่วย 1 ราย ซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนที่สูง แต่ก็ถือว่าคุ้มค่ากับประโยชน์ที่ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ โดยในปี 2555 ตั้งเป้าจัดหาอาสาสมัครบริจาคสเต็มเซลล์ให้ได้ 140,000 คน